Hearing vs. Listening

2915

สวัสดีค่ะ บทความนี้ขอนำเสนอเรื่องดีๆ อีกเช่นเคย … เชื่อเถอะค่ะว่า “ฟังไว้เยอะๆ ได้กำไรชีวิตนะคะ” เคยได้ยินไหมว่าคนที่หมั่นฟังประสบการณ์ เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์มากๆ จัดเป็น “พหูสูต” ยังงัยล่ะคะ เพราะเรื่องบางเรื่องเราอาจไม่ต้องลงมือทำเองหมดก็ได้ การเป็นผู้ฟังที่ดี (ประกอบด้วยสติปัญญา) ช่วยให้เราสามารถนำแง่มุมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น และผิดพลาดน้อยลงนั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องยาเสพติด มันไม่ดี เราฟังไว้ใช่ว่า…รับรู้ไว้ว่ามันไม่ดี เป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพกาย และใจ และไม่ไปริลองเด็ดขาดนั่นเอง

ไหนๆ ก็ว่าด้วยเรื่องของการฟังไปแล้ว จึงขอเอาเรื่องนี้มาเล่าแล้วกันนะ…
เวลาที่พวกเราเรียนภาษาอังกฤษเนี่ย ไม่ควรลืมใส่ใจในการอ่านออกเสียงนะคะ คือ ถ้ามีโอกาสได้ฟังฝรั่ง (เจ้าของภาษา) พูดก็พยายามจดจำไว้ หรือถ้าไม่รู้จริงๆ ก็อาจจะเปิด
Google Translate หรือ Dictionary เพื่อเช็คคำอ่าน แล้วลองอ่านออกเสียงตามดู เมื่อทราบแล้วก็หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราอ่านหนังสืออยู่ในห้องคนเดียวก็อ่านให้มันดังๆ (เป็นการฝึกการใช้ลิ้นในการออกเสียงอย่างหนึ่ง ลิ้นจะได้ไม่แข็ง) เพราะเวลาที่ไม่ได้พูด หรือใช้ภาษานานๆ จะทำให้พูดไม่คล่อง คือ พูดออกไปไม่ทันความคิดนั่นเองค่ะ

ย้อนกลับไปสมัยเรียนที่ต่างประเทศ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งในห้องเรียนที่อาจารย์ใช้คำว่า “image” โดยอ่านออกเสียงว่า “อิมมิจ” นั้นตอนแรกรู้สึกงงมากๆ นึกไม่ออกจนต้องหันไปถามเพื่อนเกาหลีที่เป็น American born ข้างๆ หลังจากที่เขาเขียนตัวสะกดลงบนกระดาษให้ ก็ถึงกับร้อง อ๋อ เพราะเราๆ ท่านๆ นั้นคุ้นเคยกับคำว่า “อิมเมจ” มากกว่า…

นอกจากนี้แล้วยังมีคำอีกมากมายที่เราพบเจอกันบ่อยๆ แต่อ่านออกเสียงกันไม่ค่อยจะถูก ได้แก่ “hour”, “desire”, “science” และ “camel” เป็นต้น … ไหนลองเดาดูสิคะว่า ควรจะอ่านออกเสียงว่าอย่างไร?

สำหรับคำอ่านที่ถูกต้องเมื่อไล่เรียงตามลำดับจากคำแรกจนถึงคำสุดท้ายนั้น เป็นดังนี้ค่ะ…

  • hour อ่านออกเสียงว่า “อาว-เอ้อร์” (หมายถึง ชั่วโมง)
  • desire อ่านออกเสียงว่า “ดี-ซาย-เอ้อร์” (หมายถึง ความปรารถนา / ความต้องการ)
  • science อ่านออกเสียงว่า “ซาย-แอ้น” (หมายถึง วิทนาศาสตร์)
  • camel อ่านออกเสียงว่า “แคม-ม่อล” (หมายถึง อูฐ)

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปก็หวังว่า ทุกๆ คนคงจะอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้องนะคะ

อีกอย่างหนึ่ง เชื่อเลยว่า คงมีหลายๆ คนอยากเก่งภาษาอังกฤษแบบพูดได้คล่อง-ฟังได้คล่อง (เหมือนพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือดาราบางคนในสมัยนี้)
เฮ้อ… “นึกแล้ว ช่างดูเท่ห์ดีจังเลยเนอะ”…แน่นอนสิคะ แต่ เอ…แล้วทำอย่างไรเราถึงจะเป็นได้แบบนั้นบ้างล่ะ?

โดยส่วนตัวเห็นว่า การจะเก่งภาษาอังกฤษได้นั้นมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ grammar และ vocabulary นั่นเอง… (อย่าเพิ่งส่ายหน้าหนีกันสิจ๊ะ…ลองคิดตามอย่างนี้นะ) โดยปกติแล้ว skills ในการใช้ภาษาต่างๆ จะมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 4 แบบ คือ Writing, Reading, Listening, Speaking และถ้าหากว่าเราเก่ง grammar ก็จะทำให้เราเก่งใน 2 skills หลักแรก (Writing+Reading) ต่อมาหากเราพัฒนาด้านคำศัพท์ให้ได้มากแล้วนำไปใช้รวมกับความมั่นใจอย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถเก่งในอีก 2 skills หลังได้ (Listening+Speaking)

เรื่องนี้เป็นจริงอย่างมากนะคะ เพราะเคยลองสังเกตกับคนรอบตัวอยู่เป็นประจำ (ลองนึกตามไปดูสิคะ) สมมติว่าถ้าเราเคยรู้คำศัพท์คำใดคำหนึ่งมาก่อนหน้านี้ พอให้ทำแบบฝึกหัด Listening โดยเป็นการสนทนาที่ค่อนข้างจะเร็วด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามักจะจับคำที่ “ตนเองรู้อยู่ก่อน” ได้นั่นเอง…

เรื่องนี้อาจจะอธิบายได้โดยหลักจิตวิทยาพื้นฐาน คือ “Hearing นั้นต่างกับ Listening”

Listening นี้ ก็คือการฟังโดยมีการคิดวิเคราะห์ประกอบเข้าไปด้วย แต่ Hearing เป็นเพียงการฟังเสียงที่ผ่านเข้ามาในหูโดยที่เราอาจไม่ทราบความหมาย หรือไม่ได้ตั้งใจฟังก็ได้…ยกตัวอย่างเช่น หากเราไม่เคยรู้มาก่อนว่า “เย็นตาโฟ” คืออะไร เวลาที่เราได้ยินใครๆ คุยกัน เราอาจแทบไม่สามารถจับคำ หรือทราบได้เลยว่ามันมีคำๆ นี้อยู่ด้วยในการสนทนา ในทางกลับกัน หากเราทราบว่าเจ้าก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นใส่สีชมพูออกแดงๆ กับผักบุ้งเนี่ยแหละที่เรียกว่า “เย็นตาโฟ” เพียงเท่านี้ ถึงแม้ในบางครั้งที่เราได้ยินเพียงเบาๆ เท่านั้น เราก็ยังสามารถที่จะจับคำและความหมายของการสนทนาได้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร เป็นต้น…

หวังว่าบทความนี้คงสร้างกำลังใจ และชี้นำแนวทางให้ผู้อ่านทุกท่าน (เห็นความสำคัญของคำศัพท์) ได้พอสมควรนะคะ… แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

#การฟังภาษาอังกฤษ