ยาแบบไหนจัดเป็น Over the counter?

4975

เชื่อว่า หลายๆ คนคงเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกันบ่อยอยู่แล้วล่ะ บทความนี้ ขอกล่าวถึงแนะนำฉบับพิเศษใน “การเลือกซื้อของเพื่อเตรียมตัวไปต่างประเทศ” (จะไปเที่ยวหรือไปเรียนก็ไม่ว่ากันนะจ๊ะ) … เริ่มต้นด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรือคนที่มีสายตาไม่ปกติ โดยเฉพาะคนที่ใส่ contact lens ควรจะเตรียมพร้อมให้ดีๆ เนื่องจากโดยปกติแล้วในต่างประเทศนั้น จะแบ่งลักษณะยาต่างๆ ออกเป็น 2 อย่าง…

อย่างแรกนั้น คือ ยาที่เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาทั่วไป ซึ่งเรียกว่า “over-the-counter” หรือ OTC

และอีกประเภทหนึ่งก็คือยาที่เราไม่สามารถหาซื้อเองได้ จะต้องได้มีใบสั่งของแพทย์ควบคู่มาด้วย แบบนี้เรียกว่า “Prescription”…(จริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ ของบ้านเรานั่นแหละ เพียงแต่ต่างกันตรงที่รายการของยาที่อนุญาตให้เป็นแบบ over-the-counter น่ะ มันต่างกัน)

ตัวอย่างเช่น contact lens ที่ในบ้านเราซื้อหากันได้แสนสะดวกตามปกติเนี่ย ในประเทศสหรัฐอเมริกาเค้าจัดให้เป็นแบบที่สอง หรือ Prescription นั่นคือ ต้องไปตรวจสายตา และมีใบจากแพทย์ในการสั่งซื้อ (ฉะนั้น ราคาจึงแพงกว่าที่บ้านเรามากค่ะ เฉพาะค่าตรวจก็ราวๆ 50-60 เหรียญซะแล้ว นี่ยังไม่รวมค่าเลนส์นะ)

ดังนั้น หากเราตั้งใจจะไปเที่ยวหรือไปเรียนต่อ จึงแนะนำให้เอาไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเอาไปได้ เอ๊ะ…แต่ก็อย่า “งก” จนลืมดูเรื่องวันหมดอายุนะคะ เพราะว่าอย่างไรก็ดี ควรคำนึงถึงเรื่องสุขภาพตามากกว่าสิ่งอื่นใดค่ะ เช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพฟัน ที่อยากจะแนะนำว่า ควรไปเช็คสุขภาพฟันก่อนเดินทาง หรือทุกๆ ครั้งที่มีโอกาสแวะกลับมาบ้านเรา เนื่องจากค่าทำฟันที่ต่างประเทศแพงหูฉี่เลยจริงๆ ค่ะ… (อ้อ แล้วก็แนะนำให้ทำประกันสุขภาพไว้ด้วยก่อนเดินทางไปต่างประเทศค่ะ)

และอีกเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนหัวไวที่กำลังจะไปเรียนต่อ ถ้ามีโอกาสเช็คได้ว่าต้องใช้หนังสืออะไรบ้างก็ควรจะลองเช็คดู และ “ถ้าไม่หนักจนเกินไป” ก็ลองหาซื้อในบ้านเราดูนะคะ แล้วจะพบว่า ช่วยประหยัดไปได้ถึงครึ่งนึงจริงๆ ค่ะ เนื่องจากหนังสือ หรือ Text book ต่างๆ ที่ถูกพิมพ์ขึ้นในประเทศแถบเอเชีย เช่น ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนมากจะอยู่ในรูปหนังสือปกอ่อน (paperback) และจะตั้งราคาไว้ถูกกว่าหนังสือปกแข็ง (Hard cover) ที่วางขายในอเมริกามาก เพราะสำนักพิมพ์ฯ ถือว่าเป็นการช่วยส่งเสริมความรู้ให้ประเทศโลกที่สาม หรือประเทศที่ยังไม่พัฒนา (เท่าอเมริกา) ยังงัยล่ะคะ แต่อันนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า…อย่าให้กระเป๋าเดินทางน้ำหนักเกินนะ เพราะเมื่อรวมค่าปรับของสายการบินเข้าไปแล้วอาจจะไม่คุ้มก็ได้

เหล่านี้เป็นคำแนะนำที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ล้วนๆ ค่ะ หวังว่าผู้อ่านคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ หรืออย่างน้อยก็ขอให้สนุกกับการอ่านค่ะ แล้วพบกันบทความหน้าค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

#เตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อ #เรียนต่อต่างประเทศ