American English vs. British English

3091

เชื่อว่าเกือบทุกคนจะต้องมี “โทรศัพท์มือถือ” อย่างน้อยหนึ่งเครื่องเอาไว้สำหรับติดต่อสื่อสารกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือคนอื่นๆ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องสนุกๆ น่ารู้ของเจ้า “มือถือ” กันดีกว่าค่ะ

โดยปกติเนี่ย พวกเราอาจเคยคุ้นๆ หูกันถึงคำว่า “mobile” (บางคนอ่านว่า “โม-บิล” แต่บางคนก็อ่านว่า “โม-บาย” จะอ่านแบบไหนก็ถูกหมดแต่ต่างสำเนียงค่ะ) ซึ่งมีความหมายแทนเจ้ามือถือที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำจนแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิตของมนุษย์เราไปซะแล้ว แต่ทราบไหมคะว่า mobile นี้  โดยส่วนมากจะใช้เรียกกันในหมู่ของคนที่ใช้ British English เท่านั้น

แน่นอนค่ะ…เมื่อพูดแบบนี้แล้ว สำหรับคนที่ใช้ American English อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะไม่นิยมเรียกโทรศัพท์มือถือว่า “mobile phone” แต่จะนิยมใช้คำว่า “cell phone” แทนมากกว่า (บางทีก็เรียกชื่อเล่นว่า “cell”) …ก็อย่างที่รู้กันล่ะค่ะว่า…พี่เบิ้มทั้งสอง (ประเทศนี้) เค้าไม่ค่อยอยากจะเป็นผู้ตาม (follower) ของกันและกันซักเท่าไหร่

ฮั่นแน่ รู้หนอกน่า…คราวนี้ก็ต้องมีใครบางคนเริ่มสงสัยอีกล่ะสิว่า “เอ…นอกจากนี้แล้ว ยังมีคำไหนอีกไหมที่ใน British English และ American English เค้าใช้ต่างกัน?” …

คำตอบคือ “มีแน่นอน แล้วก็เยอะซะด้วยซีค่ะ”…เอาอย่างนี้นะ เดี๋ยวจะลองยกมาเป็นคู่ๆ ซัก 6-7 คู่ที่สำคัญๆ มาไว้ในบทความนี้ดีไหมคะ เริ่มกันเลยนะ…

สมมติว่า เราไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ…เมื่อเราไปถึง สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ การหาที่อยู่…ดังนั้น คู่แรกจึงขอเป็นคำที่ชาว American English เรียกกันว่า “apartment” ซึ่งหมายถึง อพาร์ตเม้นต์ หรือห้องเช่าที่เราอาศัยอยู่อย่างชั่วคราว โดยการจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน (เราไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือที่อยู่นั้นๆ) ซึ่งชาว British English เค้าจะเรียกว่า “Flat” (อ่านว่า “แฟลต”) แทนนั่นเองค่ะ…อ้อ มีเรื่องเสริมอีกนิดนึงว่า apartment คือ หอพักภายนอกมหาวิทยาลัยที่เราสามารถหาอยู่เองได้ (เป็นของเอกชน) แต่หากว่า ภายในมหาวิทยาลัยของเรามีหอพักเอาไว้ให้ แบบนี้เราไม่เรียกว่า “apartment” แต่จะเรียกว่า “dormitory” (ดอร์ม-มิ-ทอ-รี่) หรือย่อสั้นๆ ว่า “dorm” (ดอร์ม) นะคะ…

ถัดมา…หลังจากที่ทราบคร่าวๆ แล้วว่า หอพักไหนน่าอยู่บ้าง ก่อนการตัดสินใจ เราก็อาจตั้งคำถามเพิ่มเติมในเรื่องของความสะดวกสบาย เช่น หากเราได้ห้องพักอยู่ชั้น 8 แล้วเราต้องเดินขึ้น-ลงบันไดทุกวัน คงจะแย่แน่ๆ แต่หากว่ามี “lift” หน่อยก็คงจะดี…แน่นอนค่ะว่า ถ้าถามแบบนี้ในประเทศอังกฤษ ก็คงเป็นที่เข้าใจกันดี แต่ถ้าเป็นในอเมริกาแล้ว คุณ landlord หรือ landlady (เจ้าของอพาร์ตเม้นต์ชาย หรือหญิง ตามลำดับ) นั้นก็อาจงงเป็นไก่ตาแตกได้ เพราะเขาหรือเธอจะรู้จักแต่คำว่า “elevator” กันค่ะ…ไม่เพียงเท่านี้ หากเราอยากถามถึงห้องน้ำบ้างว่ามีกี่ห้อง เราก็ต้องใช้คำว่า “bathroom” กับห้องน้ำของชาวอเมริกัน ในขณะที่ “WC” หรือ “loo” นั้น จะใช้กับห้องน้ำของผู้ดีอังกฤษ  อ้อ! อีกนิดนึงค่ะ…หากว่า พวกเรามีรถและต้องการที่จอดรถด้วย ก็อาจต้องถามหา “Parking lot” กับ American apartment  ในขณะที่ต้องถามหา “Car park” กับ British Flat ด้วยเช่นกัน…

เมื่อรู้ข้อมูลเพียงพอที่เราจะตัดสินใจเลือกเช่า apartment หรือ flat ไหนดีแล้วนั้น ถัดมาเราก็ต้องจดจำ address หรือที่อยู่ของ apartment หรือ flat ที่เราอยู่ เพื่อบอกคุณพ่อคุณแม่หรือเพื่อนๆ ของเรา (เผื่อว่าใครจะส่งจดหมายมาหาเรา .. เด็กๆ สมัยนี้จะรู้จัก “จดหมาย” ไหมน้อ)…และแน่นอนว่า สิ่งสำคัญด้านหลังสุด ก่อนปิดท้ายที่อยู่ ซึ่งบ้านเราเรียกกันว่า “รหัสไปรษณีย์” นั้น ทาง American English เค้าจะเรียกกันว่า “Zip code” ในขณะที่ British English จะใช้คำว่า “Postal Code” แทนค่ะ…

หลังจากที่เราได้ที่พำนัก และย้ายเข้ามาพักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องซื้อของกินของใช้มาตุนไว้บ้าง บังเอิญว่า เราชอบกิน “cookie” มากๆ ซึ่งหากว่าเราไปตามห้างฯ ในอเมริกาก็คงไม่มีปัญหา แต่หากว่าเราอยู่ในประเทศอังกฤษล่ะก็ เราต้องถามหา “biscuit” (อ่านว่า “บิส-กิต) แทนที่จะเป็น cookie นะคะ…

และท้ายที่สุดนอกเหนือจากของกินแล้ว เราอาจต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ด้วยการหาตู้ยาสามัญประจำห้องเช่าอีกด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับมือใหม่ (หัดทำกับข้าว) ก็คงหนีไม่พ้น “Plaster” หรือปลาสเตอร์ยา (ชาวอังกฤษเรียกอย่างนั้น) หรือเรียกอีกอย่างว่า “Band-aid” (อ่านว่า “แบนด์-เดด” สำหรับชาวอเมริกันค่ะ)…เป็นยังงัยกันบ้าง…ไม่รู้ว่า จะแยกกันใช้คนละคำไปถึงไหน ไม่สงสารเด็กตาดำๆ หัวโตๆ อย่างพวกเราบ้างเลยว่า ต้องจำขนาดไหน และอย่าลืมนะคะว่า ข้อสอบที่มาจากต่างสถานที่ (เช่น TOEFL และ IELTS) นั้น ก็ยินดีที่จะให้คะแนนในการเลือกใช้คำศัพท์ที่ต่างกันซะด้วยสิคะ…

เป็นยังงัยกันบ้าง…หวังว่า หลายๆ คนคงได้รับสาระ ประโยชน์ และความรู้เพิ่มเติมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันได้บ้างจากบทความนี้เช่นเคยนะคะ…ขอบคุณที่ให้ความสนใจและติดตามอ่านกันมาตลอด ถ้าชอบบทความดีๆ แบบนี้ ฝากกดไลค์และกดแชร์ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

#American English #British English